พื้นที่ “ถ้ำนาคา” ตั้งอยู่ที่สำนักสงฆ์หนองบัวแดงแก่งช้างหมอบ อำเภอเขมราฐ จังหวัดอุบลราชธานี ชื่อ “แก่งช้างหมอบ” ตั้งตามเหตุการณ์ช้างตายอยู่ที่แก่ง ถือเป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวบ้านเกรงกลัวและให้ความเคารพ ชาวบ้านเชื่อว่าบริเวณถ้ำนาคาเป็นพื้นที่ของพญานาค นามว่า พญามหาเศรษฐีมุนีนาคราช หรือ พ่อปู่บุญโฮม เรื่องเล่าจากชาวบ้านเกี่ยวกับพื้นที่แห่งนี้คือ ครั้งหนึ่งชาวบ้านที่ทำนาได้ขุดพบไหโบราณที่มีเงินอยู่ในนั้นจำนวนมาก จึงไปเรียกให้ชาวบ้านคนอื่นๆ มาช่วยกันดู แต่หลังจากพากันมาดูไหนั้นได้หายไป จึงเชื่อว่าเป็นไหผี ความเชื่อเกี่ยวกับพื้นที่แห่งนี้จึงเริ่มต้นขึ้น [1]
นอกจากนั้น ชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในพื้นที่แถบนี้ได้เล่าเชื่อมโยงความศักดิ์สิทธิ์กับถ้ำแห่งหนึ่ง เป็นถ้ำเล็กๆ ที่คนลออดเข้าไปได้ แต่ชาวบ้านส่วนใหญ่ไม่กล้าลอดเข้าไปเพราะเชื่อว่าเป็นที่อยู่ของพญานาค ชาวบ้านเชื่อว่าภายในถ้ำมีพญานาคนามว่า พญามหาเศรษฐีมุนีนาคราช จำศีลอยู่ภายในเป็นเวลานานหลายพันปี และปากถ้ำมีพญานาคี 2 ตน คือ นางอุบลวรรณา และ นางกิสมาส เป็นผู้เฝ้าปากถถ้ำขณะที่พญามหาเศรษฐีมุนีนาคราชจำศีลอยู่ภายในถ้ำ สถานที่แห่งนี้ถูกเล่าต่อและถ่ายทอดความเชื่อให้กับคนที่เดินทางมากราบไหว้ขอพร โดยจุดประสงค์สำคัญคือการขอพรเกี่ยวกับเรื่องทรัพย์ ซึ่งเชื่อมโยงและสะท้อนผ่านการตั้งชื่อพญานาคที่มีคำว่า เศรษฐี กระทั่งภายหลังกระแสความสนใจเกี่ยวกับพญานาคในพื้นที่อีสานและประเทศไทยเข้มข้นขึ้น ชุมชนและหน่วยงานภาครัฐได้เกิดแนวคิดในการยกระดับและพัฒนาพื้นที่แห่งนี้ให้เป็นสถานที่สำคัญทางความเชื่อและเป็นแหล่งท่องเที่ยวของอำเภอเขมราฐ จังหวัดอุบลราชธานี [2]
หากเดินทางไปถึงที่แห่งนี้จะพบว่า มีรูปปั้นพญานาคโดดเด่นสวยงาม 2 ตน คือ ตนหนึ่งสีเขียวมรกต และอีกตนสีขาวขุ่น คนที่เดินทางมาที่นิยมมากราบไหว้ขอเลขหวยและโชคลาภ โรคภัย ความทุกข์โศก หากเดินทางไปถึงที่แห่งนี้จะพบการผูกผ้าแดงเป็นสัญลักษณ์ทั่วพื้นที่ปลิวไสวตามสายลม บรรดาผู้คนเดินทางจากหลายหมู่บ้านและตำบลมาร่วมทำบุญสังฆทานร่วมกับพิธีบวงสรวงเปิดถ้ำนาคา ในพื้นที่พักสงฆ์ก่อนที่จะมีการก่อสร้างพญานาคราชขนาดใหญ่ เพื่อให้ผู้คนได้มาสักการะบูชา ซึ่งเป็นการส่งเสริมให้ถ้ำนาคาเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมอีกหนึ่งที่สำคัญของเมืองเขมราฐ ด้วยความหมายทางศาสนาและวัฒนธรรมที่มีความสำคัญอย่างยิ่งในชุมชนและท้องถิ่น เชื่อว่าการเปิดเผยและส่งเสริมที่นี่จะเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวที่สร้างรายได้และสร้างโอกาสใหม่ให้กับชุมชน พระมหาวราวุธ ปัญญาวุโธ หัวหน้าที่พักสงฆ์หนองบัวแดง ชี้ว่า ตนเป็นลูกหลานในหมู่บ้าน บวชตอนเป็นสามเณรและได้ศึกษาเล่าเรียนพระปริญัตติธรรมจนสอบได้เปรียญธรรม 6 ประโยค ได้เดินทางไปจำพรรษาและทำการเผยแผ่พระพุทธศาสนาถึง 4 ประเทศ คือ ประเทศเกาหลีใต้ ญี่ปุ่น เนเธอร์แลนด์ และเบลเยียม และกลับมายังมาตุภูมิของตนเอง [3]
คำบูชาพญามหาเศรษฐีมุนีนาคราชมีจุดประสงค์เกี่ยวกับทรัพย์ โชคลาภ โรคภัย ความทุกข์โศก คือ “ตั้งนะโม 3 จบ (กล่าวด้วยเสียงที่ดังฟังชัด) มหาเศรษฐีมุนีนาโค โอม นะโม มหาลาภะ เรียกทรัพย์ ทรัพย์ไหลมา เรียกลาภ เกิดขึ้นทันตา เรียกยศฐา เลื่อนขึ้นเร็วไว ทุกข์ โศก โรค ภัย พินาศดับไปด้วย นะโมพุทธายะฯ” ชาวสบ้านทั้งในพื้นที่และนอกพื้นที่ต่างให้ความสนใจสักการะ เดินทางแวะเวียนมาเยี่ยมเยือนสถานที่แห่งนี้ไม่ขาดสาย และมีแนวคิดร่วมกันในการพัฒนาให้เป็นพื้นที่แหล่งท่องเที่ยวสำคัญของอำเภอเขมราฐ จังหวัดอุบลราชธานี โดยเป้าหมายการสร้างพญานาคขนาดยาว 50 เมตร สูง 9 เมตร พระมหาวราวุธ ปัญญาวุโธ หัวหน้าที่พักสงฆ์หนองบัวแดงแก่งช้างหมอบ ชี้ว่า คิดจะสร้างพญานาคเพื่อเป็นสัญลักษณ์ของความยิ่งใหญ่และอุดมสมบูรณ์ของเขมราฐ มีแรงบันดาลใจจากการจำพรรษาในต่างประเทศ และมีความตั้งใจที่จะสร้างพญานาคเพื่อให้ชาวบ้านได้เคารพบูชา และนายกเทศมนตรีตำบลเทพวงศา อำเภอเขมราฐ ได้ประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อสนับสนุนการสร้างพญานาคให้เป็นแลนด์มาร์คที่สำคัญของเขมราฐ ห่างจากแม่น้ำโขงประมาณ 1 กิโลเมตร และห่างจากตัวอำเภอเขมราฐ 14 กิโลเมตร และห่างจากจังหวัดอุบลราชธานี 124 กิโลเมตร และห่างจากกรุงเทพมหานคร ประมาณ 650 กิโลเมตร
ที่มาข้อมูล
[1] UBON VVR Cable. 2020. ถ้ำนาคา สำนักสงฆ์หนองบัวแดงแก่งช้างหมอบ ตำบลเขมราฐ อำเภอเขมราฐ จังหวัดอุบลราชธานี. เว็บไซต์ youtube.com. เข้าใช้ข้อมูลเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2567.
[2] อ้ายฉิง. 2023. รีวิวเที่ยวถ้ำนาคา ไหว้ขอพรพญามหาเศรษฐีมุนีนาคราช ณ วัดอุทยานธรรมหนองบัวแดงแก่งช้างหมอบ. เว็บไซต์ travel.trueid.net. เข้าใช้ข้อมูลเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2567.
[3] UBON VVR Cable. 2020.