เรื่องราวเกี่ยวกับพญานาคเชื่อมโยงมิติต่างๆ อย่างเป็นพลวัต (Dynamic) อีกทั้งสะท้อนคติชน (folklore) ความเชื่อ (belief) สังคม วัฒนธรรม ประเพณี และอัตลักษณ์ (identity) แต่ละพื้นถิ่น จากกระบวนทัศน์ดั้งเดิมสู่การปรับเปลี่ยนให้เป็นสินค้าและบริการของแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม บริเวณลุ่มแม่น้ำโขงและภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่ลุ่มลึก บรูดิเออ ได้พัฒนาแนวคิด “ทุนทางวัฒนธรรม” (Social Capital) เพื่อทำความเข้าใจความสัมพันธ์ที่ละเอียดอ่อนระหว่างอำนาจทางวัฒนธรรมและสังคม รวมทั้งการจัดระเบียบ/องค์กรทางสังคมกับโรงสร้างสังคม ความเชื่อเรื่อง “นาค” หรือ “พญานาค” ถ่ายทอดส่งต่อในสังคมอีสาน และชุมชนแถบลุ่มแม่น้ำโขงอย่างเป็นพลวัตเรื่อยมา
กนกวรรณ มะโนรมย์ (2019) กล่าวถึง “พญานาคาศรีสุทโธ” นาคและพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ในอีสานว่าเป็นเครื่องมือทางจิตวิญญาณเพื่อหลุดพ้นความเหลื่อมล้ำ คนอีสานใช้ความเชื่อเรื่อง “นาค” เป็นเครื่องมือเชิงจิตวิญญาณและจินตนาการเพื่อสร้างความเท่าเทียมทางสังคม สร้างการมีอิสระทางความคิดรวมถึงลดความเหลื่อมล้ำและแก้ปัญหาชีวิตอันเกิดจากการถูกกดขี่จากโครงสร้างสังคมที่ไม่เท่าเทียมและการถูกกดทับทางอัตลักษณ์ ความเชื่อเรื่องนาคเป็นส่วนหนึ่งในความเชื่อสำคัญ 3 อย่างในสังคมอีสาน คือ ผี พุทธ และพราหมณ์ โดยความเชื่อเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่า คนอีสานพึ่งพาทรัพยากรธรรมชาติเพื่อการทำมาหากินโดยใช้ผีหรือความเชื่อเหนือธรรมชาติเป็นกลไกสำคัญในการจัดระเบียบและสร้างกติกาการอยู่ร่วมกันทางสังคม และการอยู่ร่วมกับธรรมชาติด้วยความถ่อมตนต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ แม้การพัฒนาและการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ได้ส่งผลให้คนอีสานมีความเป็นอยู่ดีขึ้นโดยรวม แต่การพัฒนามาพร้อมกับความย้อนแย้งในตัวมันเอง คนอีสานจำนวนมากยังเป็นกลุ่มคนที่ยากจนกว่าคนภาคอื่นๆ และนับวันช่องว่างความยากจนยังจะถ่างมากขึ้น คนอีสานพยายามลดความยากจนของตนเองลงด้วยวิธีการต่างๆ นานา เช่น ผลักดันตัวเองด้วยแรงปรารถนาจะมีชีวิตให้ดีขึ้นผ่านการทำงานนอกภาคเกษตรกรรมทั้งในและต่างประเทศ และมีการศึกษาสูงขึ้น เชื่อมโยงกับสังคมภายนอกและสังคมโลกผ่านการแต่งงานข้ามวัฒนธรรมและการทำงานต่างถิ่น ผู้คนให้ความเคารพและยกย่องให้พญานาคเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่มอบความมงคลให้ชีวิตหลากมิติ เช่น สังคม วัฒนธรรม ประเพณี ความเชื่อ และระบบเศรษฐกิจ เป็นต้น
ขณะที่ มุมมองเกี่ยวกับพญานาคในลุ่มแม่น้ำมูล ลุ่มแม่น้ำโขง และลุ่มแม่น้ำสาขาที่มีความเคลื่อนไหลเชื่อมโยงกัน และพญานาคไม่ได้เพียงแต่เป็นความเชื่อเท่านั้น แต่พญานาคได้มีภาคปฏิบัติการตอบโต้และช่วงชิงความหมายโดยชาวบ้านต่อวาทกรรมการพัฒนาที่เกิดขึ้นจากรัฐ [3] โดยพญานาคกับพลวัตทางสังคมอีสานและลุ่มแม่น้ำโขง มีความแตกต่าง หลากหลาย เคลื่อนไหล เชื่อมโยง และไม่ได้ถูกแช่แข็งหยุดนิ่งอยู่เพียงพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งเท่านั้น แต่เรื่องราวหรือเรื่องเล่าพญานาคเคลื่อนไหลเชื่อมโยงไปมาหากัน เช่น ตระกูล เพศ อำนาจ ถิ่นที่อยู่/ที่ตั้ง ลักษณะ สี ฯลฯ ส่วนนี้กล่าวถึงกรณีพญานาคในพื้นที่ชุมชนอีสานแถบลุ่มแม่น้ำโขงไทย-สปป.ลาว อย่างน้อยใน 3 จังหวัดรวมพื้นที่ทั่งสิ้น 11 แห่ง ได้แก่ วัดป่าปากโดม วัดถ้ำวังผาพญานาคราช วัดถ้ำปาฏิหาริย์ วัดสวนหินผานางคอย วัดป่าภูปัง วัดภูยอดรวย วัดพุทธบาทภูมะโนรมย์ แก่งกะเบา สะพานมิตรภาพแห่งที่ 2 ลานพญานาคนครพนม และถ้ำนาคี พบว่า เรื่องราวเกี่ยวกับพญานาคมีความเป็นพลวัตเบื้องต้นสามารถแบ่งออกเป็นยุคสมัยต่างๆ อย่างน้อย 4 ยุค คือ ยุคพึ่งพาทรัพยากรธรรมชาติและแหล่งน้ำ ยุคของความเปลี่ยนแปลงและการพัฒนา พญานาคในยุคสมัยของความทันสมัยและความเหลื่อมล้ำ และยุคของการท่องเที่ยวและการทำให้เป็นสินค้า ดังนี้ เครื่องเซ่นไหว้/สิ่งของต่างๆ คือ การขอบคุณ พญานาคมอบโชคลาภหรือความสำเร็จต่างๆ หลังคำขอเป็นผล
ยุคพึ่งพาทรัพยากรธรรมชาติและแหล่งน้ำ
อดีตสังคมมนุษย์มีการเคลื่อนย้ายและก่อตั้งชุมชนอยู่บริเวณริมฝั่งแม่น้ำ ภูเขา และป่าไม้ ที่มีความอุดมสมบูรณ์ ชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในชุมชนพึ่งพาทรัพยากรเพื่อการยังชีพ เช่น การประมงพื้นบ้าน การล่าสัตว์ การหาของป่า การทำไร่ ทำนา และอื่นๆ ความเชื่อเกี่ยวกับพญานาคถูกตีความและให้ความหมายเชิงสัญลักษณ์คือการเป็นตัวแทนของสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ธำรงตนเพื่อปกป้องศาสนา รวมทั้งมีบทบาทหน้าที่ในการปกป้องความสงบร่มเย็นของชุมชนและความอุดมสมบูรณ์ของพื้นที่ทรัพยากรแหล่งน้ำ ภูเขา และป่าไม้ กล่าวคือ พญานาคทะนะมูลนาค หรือ “เจ้าปู่เจ้าภูวงศ์” แห่งวัดป่าปากโดม อำเภอพิบูลมังสาหารนอกจากจะมีบทบาททางความเชื่อและศาสนาแล้วยังมีบทบาทในการปกป้องแหล่งอนุรักษ์พันธุ์ปลาและวังบาดาล พญานาคราชแห่งวัดถ้ำวังผาพญานาคราช อำเภอโขงเจียมมีความเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับลำห้วยที่เชื่อมต่อกับแม่น้ำโขงและเป็นแหล่งวางไข่ของปลาอพยพ ถ้ำพญานาคแห่งวัดถ้ำปาฏิหาริย์ อำเภอโขงเจียมเกี่ยวข้องกับความสงบร่วมเย็นของมนุษย์ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่รวมทั้งเป็นที่อยู่ของ “คนทิพย์” ในเมืองลับแล องค์ปู่พญาอนันตภุชงค์นาคราชแห่งวัดผาหินนางคอย อำเภอศรีเมืองใหม่ ปกป้องความอุดมสมบูรณ์ของลำห้วยและป่าไม้ ปู่พญานาคราช (พญานาคเรืองแสง) แห่งวัดป่าภูปัง อำเภอศรีเมืองใหม่ปกป้องขุนเขาและความร่มเย็นให้ชาวบ้าน พญานาคที่ภูมโนรมย์เป็นเจ้าแห่งภพฟ้า พญาศรีสัตตนาราชริมฝั่งแม่น้ำโขงจังหวัดนครพนมเป็นเจ้าแห่งภพน้ำ พญาศรีภุชงค์มุกดานาคราชแห่งแก่งกะเบาเจ้าแห่งปฐพีภพ ศาลปู่พญานาคที่สะพานมิตรภาพไทยลาวแห่งที่ 2 เกี่ยวข้องกับภูมินิเวศใต้แม่น้ำโขงบริเวณก่อสร้างสะทานมิตรภาพ พญาศรีสัตตนาราชริมฝั่งแม่น้ำโขงจังหวัดนครพนมเกี่ยวข้องกับความสงบร่มเย็นของชาวนครพนม และถ้ำนาคีเกี่ยวข้องกับพื้นที่ป่าไม้และภูเขา เป็นต้น แม้ปัจจุบันจะพบรูปปั้นพญานาคในพื้นที่ต่างๆ แถบจังหวัดอุบลราชธานี นครพนม และมุกดาหาร แต่เรื่องราวเกี่ยวกับพญานาคในอีกถูกเล่าแบบมุขปาฐะ คือ การถ่ายทอดเรื่องเล่า เรื่องราว ความเชื่อต่างๆ แบบปากต่อปากจากรุ่นสู่รุ่นเรื่อยมา ขณะที่การก่อสร้างรูปปั้นพญานาคเกิดขึ้นในช่วงหลังมานี้ได้ไม่นาน ความเชื่อเกี่ยวกับพญานาคของคนในพื้นที่แถบลุ่มแม่น้ำโขงไทย-สปป.ลาว มีความเข้มข้นเนื่องจากผู้คนที่อาศัยอยู่บริเวณนี้มีวิถีชีวิตเกี่ยวข้องกับการพึ่งพิงทรัพยากรธรรมชาติและแม่น้ำโขง ถิ่นที่อยู่ของพญานาคมีความแตกต่าง ทั้งในป่า บนภูเข้า ใต้น้ำ และเมืองลับแลหรือเมืองบังบด อีกทั้งกระจายอยู่ทั่วทุกภูมิภาคของประเทศไทย
ยุคของความเปลี่ยนแปลงและการพัฒนา
การพัฒนาแหล่งน้ำในลุ่มแม่น้ำโขงและลุ่มแม่น้ำสาขาเกิดขึ้นยาวนานหลายทศวรรษ ขณะที่พญานาคในพื้นที่หลายแห่งได้รับผลกระทบจากความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นหลังการพัฒนาที่นำไปสู่ผลกระทบต่อภูมินิเวศ ขณะที่การลงพื้นที่ภาคสนามในพื้นที่ต่างๆ กลับพบว่า เรื่องราวเกี่ยวกับพญานาคส่วนใหญ่ถูกบอกเล่าสะท้อนในมุมไสยศาสตร์และคติชนอย่างกว้างขวาง ขณะที่เรื่องราวของพญานาคกับการช่วงชิงความหมายเพื่อความเป็นท้องถิ่นยังพบค่อนข้างน้อย การตีความและช่วงชิงความหมายเกี่ยวกับพญานาคในชุมชนอีสานและชุมชนแถบลุ่มแม่น้ำโขงมีความแตกต่าง หลากหลาย ยืดหยุ่น และเคลื่อนไหล
ยุคสมัยของความทันสมัยและความเหลื่อมล้ำ
ปัจจุบันความเชื่อเรื่องพญานาคเกี่ยวข้องเชื่อมโยงถึงสังคมที่มีความเป็นทันสมัยหรือโลกาภิวัฒน์ รวมทั้งสะท้อนความเหลื่อมล้ำทางสังคม กล่าวคือ จะเห็นได้จากบทสวด คาถา หรือคำกล่าวต่างๆ บริเวณรูปปั้นพญานาคที่มีการข้อเกี่ยวกับ ความสุขของชีวิตท่ามกลางสังคมอีสานและสังคมไทยที่มีความเหลื่อมล้ำสูง ความมั่งคั่งร่ำรวยเงินทองเนื่องจากความพยายามในการทำงานที่หนักอาจไม่เพียงพอสำหรับการตอบสนองความต้องการใช้จ่ายและชีวิตประจำวัน การปราศจากโรคภัยไข้เจ็บเพื่อที่จะให้มีแรงในการทำงานหาลี้ยงครอบครัว การชนะศัตรูต่าง ๆ และอื่น ๆ นอกจากนั้น ยังสะท้อนผ่านเครื่องเซ่นไว้และการเสี่ยงโชคของคนที่มาไหว้ บูชา บนบาน เช่น การใช้ดอกดาวเรืองที่มีความหมายถึงความเจริญรุ่งเรือง การมีแผงจำหน่ายสลากกินแบ่งรัฐบาล หรือการใช้ของคาวหวานต่าง ๆ แก้บนหลังจากประสบผลสำเร็จโดยพรพญานาค เป็นต้น
ความเชื่อเรื่องพญานาคเกี่ยวข้องกับการเสี่ยงทาย เสี่ยงโชค ท่ามกลางสภาพสังคมอีสาน สังคมไทย และสังคมลุ่มแม่น้ำโขงต้องเผชิญกับปัญหาความเหลื่อมล้ำ เพราะการเสี่ยงดวงคือโอกาส ผู้คนที่เดินทางมาไหว้ สักการะ ขอพร บนบาน พญานาคส่วนหนึ่งมีเป้าหมายเพื่อขอโชคลาภ
ยุคของการท่องเที่ยวและการทำให้เป็นสินค้า
ระยะหลังไม่กี่ทศวรรษมานี้ พญานาคจากแต่เดิมเป็นเรื่องเล่าแบบมุขปาฐะ ได้มีการก่อรูปขึ้นมาเป็นรูปปั้นจากแรงศรัทธาและความเชื่อของคนแต่ละพื้นถิ่น ขณะที่พญานาคแต่และแห่งมีพลังอำนาจและอยู่คนละตระกูล รวมทั้งพญานาคในโลกทัศน์ของชาวบ้านและคนก่อสร้างมีทั้งเพศหญิงและเพศชาย อย่างไรก็ตาม การมีพญานาคเป็นรูปปั้น หรือเชิงสัญลักษณ์ ได้นำไปสู่การก่อเกิดอาชีพของคนท้องถิ่น เช่น ขายเครื่องเซ่นไหว้บูชาต่างๆ การประดิษฐ์เครื่องเซ่นไหว้ต่างๆ การปลูกดอกดาวเรื่องเพื่อสร้างรายได้ การขายอาหาร น้ำดื่ม และสลากกินแบ่งรัฐบาล รวมทั้งการขายของที่ระลึก เป็นต้น อย่างไรก็ตาม การส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงนโยบายระดับจังหวัดพบว่า จังหวัดมุกดาหารค่อนข้างให้ความสำคัญและสามารถใช้จุดเด่นของพญานาค 3 ภพมาเป็นการท่องเที่ยวพญานาคที่เชื่อมโยงกับแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ ของจังหวัด ขณะที่พญานาคถ้ำนาคียังได้รับความสนใจโดยอุทยานแห่งชาติฯ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการท่องเที่ยวพญานาคและธรรมชาติต่อไป ส่วนจังหวัดอุบลราชธานี แม้จะพบพญานาคค่อนข้างหลากหลายในพื้นที่ แต่การส่งเสริมการท่องเทียวพญานาคผ่านนโยบายการท่องเที่ยวของจังหวัดอุบลราชธานียังพบค่อนข้างน้อย ผู้คนที่เดินทางมาไหว้พญานาคมีทุกเพศ ทุกวัย และเดินทางมาจากทั่วสารทิศของประเทศไทย บางแห่งมีการนำพญานาคมาใช้เป็นสัญลักษณ์เชิงท่องเที่ยวและสินค้า เช่น การนำมาทำเสื้อหรือของฝากต่างๆ สินค้าต่างๆ สามารถจำหน่ายให้กับนักท่องเที่ยวที่เดินทางมา
พลวัตพญานาค คติชน ความเชื่อ สังคม วัฒนธรรม ประเพณีและอัตลักษณ์แต่ละพื้นถิ่น จากกระบวนทัศน์ดั้งเดิมสู่การปรับเปลี่ยนให้เป็นสินค้าและบริการของแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม บริเวณลุ่มแม่น้ำโขง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สะท้อนให้เห็นบริบท ภูมิศาสตร์ และกายภาพ ของพญานาคที่มีความแตกต่าง คือ อยู่ในน้ำ ริมแม่น้ำ/แหล่งน้ำ ในป่า/เขตอุทยานแห่งชาติ และภูเขา อีกทั้งเรื่องเล่า ตำนาน ความเชื่อ และชีวิตประจำวันของคนอีสานและลุ่มแม่น้ำโขงที่ยังคงเชื่อเกี่ยวกับพญานาคจากอดีตถึงปัจจุบันอย่างเป็นพลวัต อีกทั้ง การตีความและความหมายเชิงสัญลักษณ์พญานาคมีความหลากหลายสะท้อนผ่านเรื่องเล่า ความเชื่อ เครื่องเซ่นไว้ เครื่องแก้บน เป็นต้น นอกจากนั้น คาถา บทสวด หรือคำบูชายังสะท้อนคติชน ความเชื่อ โลกทัศน์ของคนที่นับถือพญานาค และพบว่าเชิงนโยบายและการท่องเที่ยวมีการใช้พญานาคในการดึงดูดการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมและเชื่อมโยงถึงแหล่งท่องเที่ยวอื่นๆ ซึ่งนำไปสู่การกระตุ้นเศรษฐกิจท้องถิ่นและลุ่มแม่น้ำโขง
การตีความและการช่วงชิงความหมายเกี่ยวกับสิ่งของ/เครื่องเซ่นไหว้มีความหลากหลาย เช่น การนำดอกดาวเรืองมาไหว หมายถึง สัญลักษณ์ของการเคารพที่จะนำไปสู่ความเจริญรุ่งเรืองเหมือนชื่อดอกไม้
ขณะที่ พญานาคในพื้นที่แหล่งท่องเที่ยวต่างๆ แถบจังหวัดริมฝังแม่น้ำโขงในงานวิจัยนี้ประกอบด้วย จังหวัดอุบลราชธานี 6 แห่ง ได้แก่ พญานาคทะนะมูลนาค หรือ “เจ้าปู่เจ้าภูวงศ์” แห่งวัดป่าปากโดม อำเภอพิบูลมังสาหาร, พญานาคราชแห่งวัดถ้ำวังผาพญานาคราช อำเภอโขงเจียม, ถ้ำพญานาคแห่งวัดถ้ำปาฏิหาริย์ อำเภอโขงเจียม, องค์ปู่พญาอนันตภุชงค์นาคราชแห่งวัดผาหินนางคอย อำเภอศรีเมืองใหม่, ปู่พญานาคราช (พญานาคเรืองแสง) แห่งวัดป่าภูปัง อำเภอศรีเมืองใหม่, พญานาคราชองค์ดำแห่งวัดภูยอดรวย อำเภอศรีเมืองใหม่ ในจังหวัดมุกดาหาร 3 แห่ง ได้แก่ วัดรอยพระพุทธบาทภูมโนรมย์, พญาศรีสัตตนาราชริมฝั่งแม่น้ำโขงจังหวัดนครพนม, พญาศรีภุชงค์มุกดานาคราชแห่งแก่งกะเบา, ศาลปู่พญานาคที่สะพานมิตรภาพไทยลาวแห่งที่ 2 และในจังหวัดนครพนม 2 แห่ง ได้แก่ พญาศรีสัตตนาราชริมฝั่งแม่น้ำโขงจังหวัดนครพนม และถ้ำนาคี สะท้อนให้เห็นความลุ่มลึกต่างๆ และความเป็นพลวัตอย่างน้อย 4 ประเด็น คือ พญานาคในยุคพึ่งพาทรัพยากรธรรมชาติและแหล่งน้ำ พญานาคในยุคของความเปลี่ยนแปลงและการพัฒนา พญานาคในยุคสมัยของความทันสมัยและความเหลื่อมล้ำ พญานาคในยุคของการท่องเที่ยวและการทำให้เป็นสินค้า